ความเป็นมา
ประวัติ
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
ประวัติความเป็นมา
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย “สพท.” (The Association of the Physically Handicapped of Thailand) “APHT” เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2524 โดยกลุ่มคนพิการทางด้านแขนขา – ลำตัว ที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้ และระลึกถึงเพื่อนร่วมชะตากรรมอื่นๆ ที่ยังอ่อนแออีกมาก อีกทั้งปัญหาต่างๆ ของคนพิการที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือแม้แต่จะมองเห็นความไม่สำคัญ เช่น ทัศนคติที่ไม่ดีของสังคมที่มีต่อความพิการ การขาดโอกาสในด้านต่างๆ ของคนพิการ การกระตุ้นเตือนคนพิการให้พัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
สมาคมฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2525 และได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2526 นับเป็นการเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์ขององค์กรที่ดำเนินการโดยคนพิการเพื่อประโยชน์ของคนพิการอย่างแท้จริง จากการดำเนินงานมานับเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว แม้ว่าสมาคมฯ จะยังไม่เติบโตเท่าที่ควรจากปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ทุกคนก็ยังไม่ละทิ้งซึ่งความหวัง ที่จะเห็นสมาคมฯ ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าแลเข้มแข็ง เพื่อจะเป็นส่วนช่วยพัฒนาชีวิตของคนพิการให้ดีขึ้นในสังคมที่ยอมรับว่า “คนพิการเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของสังคมนี้เช่นกัน”
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เริ่มก่อตั้งและจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2525 โดยอาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ และผู้พิการอีก 10 กว่าคน ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 7,000 คน
วัตถุประสงค์ของสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
- พิทักษ์สิทธิและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ รวมทั้งเป็นผู้แทนคนพิการ ในการติดตามการบังคับใช้ กฎหมายและการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- รณรงค์ เผยแพร่ และผลักดันให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีกฎหมาย นโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมเพื่อการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านกีฬา และด้านสังคม
- ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนพิการ พัฒนาศักยภาพผู้นำคนพิการ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้องค์กรคนพิการ และเครือข่าย
- บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษาแนะนำรวมทั้งส่งต่อคนพิการ ให้ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น
- จัดกิจกรรมหรือดำเนินงานด้านการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ และมีส่วนร่วมในสังคมรวมถึงการรับสัมปทาน รับจ้าง หรือประกอบการค้า โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร
- สนับสนุน ร่วมมือ และประสานงานกับบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน ทั้งในและต่างประเทศ
- ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการค้าสลากของคนพิการ รวมทั้งสลากการกุศลพิเศษอื่น ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์กรสาธารณะกุศล ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอื่นๆ ที่คนพิการสามารถทำได้
ตลอดระยะเวลา 31 ปี เศษ สมาคมฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวมาโดยตลอดอาทิ เช่น การเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ (ในสมัยนั้น) ผ่านพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 การร่วมมือกับมูลนิธิอาซาฮิซิมบุน ประเทศญี่ปุ่นและกรมประชาสงเคราะห์ จัดทำโครงการอบรมผู้พิการและโรงานประกอบสร้างรถวีลแชร์และการอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ชื่อ โรงงานไทยวีลร์ ซึ่งจะสามารถให้บริการคนพิการได้มากขึ้นทั้งในประเทศและภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของกรมประชาสงเคราะห์ ประมาณ 100 ตารางวา เป็นผู้ประสานงานให้คนพิการญี่ปุ่นมอบรถวีลแชร์ใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นให้แก่คนพิการไทย จำนวน 300 คัน ตั้งแต่ปี 2536 – 2538 ปีละ 100 คัน จัดทำจุลสารสายสัมพันธ์เป็นประจำเพื่อเผยแพร่ข่าวสารด้านคนพิการและความรู้อื่น ๆ แก่สมาชิก รวมทั้งเผยแพร่สู่องค์กร หน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ ทั้งร่วมเป็นกรรมการและคณะทำงานในการจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นเอเซียตะวันออกไกลและแปซิฟิคตอนใต้ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2542 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กิจกรรมที่สำคัญ ปี 2544 ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่าย รวมตัวกันร่วมคัดค้านและต่อต้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีข้อความกีดกันคนพิการเข้าสมัครสอบหรือเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 สมาคมฯ ร่วมกับองค์กรคนพิการต่างๆ ร่วมเดินรณรงค์เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างหน้ารัฐสภาไปยังกระทรวงคมนาคม และได้รับแขกจากต่างประเทศที่มาเยี่ยมสมาคมฯ ภายในปี พ.ศ. 2544 – 2548 เช่น ประเทศ Maldives , Venato , Samoa , Holland , Japan , England , Brunei
เมื่อ 14 ตุลาคม 2547 นายอุเอะอารา โยชิโน นายกสมาคมคนพิการจังหวัดโอกินาว่า และคณะจากประเทศญี่ปุ่น ได้มาเยี่ยม ณ ที่ทำการสมาคมฯ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน ทำให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น
และในวันที่ 2 ธันวาคม 2548 คณะคนพิการ จำนวน 14 คน จาก ศูนย์ส่งเสริมการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(AJU Center for Independent Living) จากเมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ได้มาเยี่ยม ณ ที่ทำการสมาคมฯ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปเพื่อดำเนินงานส่งเสริมเรียกร้อง สิทธิและโอกาสของคนพิการสร้างสรรค์ความร่วมมือกับทุกฝ่ายอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนพิการและสังคมโดยรวม
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณท่านที่กรุณาให้เกียรติและสละเวลาอันมีค่ายิ่ง มาเยี่ยมชมในครั้งนี้และหวังว่าท่านคงจะเข้าใจถึงการดำเนินงานของสมาคมฯ โดยสังเขป
นายศุภชีพ ดิษเทศ
นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย