ความเป็นมา

     

ประวัติ

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

ประวัติความเป็นมา

 

                  สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย “สพท.” (The Association of the Physically Handicapped of Thailand) “APHT” เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2524 โดยกลุ่มคนพิการทางด้านแขนขา – ลำตัว ที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้ และระลึกถึงเพื่อนร่วมชะตากรรมอื่นๆ ที่ยังอ่อนแออีกมาก อีกทั้งปัญหาต่างๆ ของคนพิการที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือแม้แต่จะมองเห็นความไม่สำคัญ เช่น ทัศนคติที่ไม่ดีของสังคมที่มีต่อความพิการ การขาดโอกาสในด้านต่างๆ ของคนพิการ การกระตุ้นเตือนคนพิการให้พัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

                   สมาคมฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 6  กันยายน 2525 และได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2526 นับเป็นการเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์ขององค์กรที่ดำเนินการโดยคนพิการเพื่อประโยชน์ของคนพิการอย่างแท้จริง จากการดำเนินงานมานับเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว แม้ว่าสมาคมฯ จะยังไม่เติบโตเท่าที่ควรจากปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ทุกคนก็ยังไม่ละทิ้งซึ่งความหวัง ที่จะเห็นสมาคมฯ ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าแลเข้มแข็ง เพื่อจะเป็นส่วนช่วยพัฒนาชีวิตของคนพิการให้ดีขึ้นในสังคมที่ยอมรับว่า “คนพิการเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของสังคมนี้เช่นกัน”

                  สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย  เริ่มก่อตั้งและจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลเมื่อวันที่  6 กันยายน 2525       โดยอาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ และผู้พิการอีก 10 กว่าคน  ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 7,000 คน

 

วัตถุประสงค์ของสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

  1. พิทักษ์สิทธิและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ รวมทั้งเป็นผู้แทนคนพิการ ในการติดตามการบังคับใช้ กฎหมายและการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  2. รณรงค์ เผยแพร่ และผลักดันให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีกฎหมาย นโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมเพื่อการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ด้านการแพทย์ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ด้านกีฬา และด้านสังคม
  3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนพิการ พัฒนาศักยภาพผู้นำคนพิการ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้องค์กรคนพิการ และเครือข่าย
  4. บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษาแนะนำรวมทั้งส่งต่อคนพิการ ให้ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น
  5. จัดกิจกรรมหรือดำเนินงานด้านการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ และมีส่วนร่วมในสังคมรวมถึงการรับสัมปทาน รับจ้าง หรือประกอบการค้า โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร
  6. สนับสนุน ร่วมมือ และประสานงานกับบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน ทั้งในและต่างประเทศ
  7. ส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการค้าสลากของคนพิการ รวมทั้งสลากการกุศลพิเศษอื่น ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์กรสาธารณะกุศล ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอื่นๆ ที่คนพิการสามารถทำได้

                    ตลอดระยะเวลา 31 ปี เศษ   สมาคมฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวมาโดยตลอดอาทิ เช่น การเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ (ในสมัยนั้น) ผ่านพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 การร่วมมือกับมูลนิธิอาซาฮิซิมบุน ประเทศญี่ปุ่นและกรมประชาสงเคราะห์ จัดทำโครงการอบรมผู้พิการและโรงานประกอบสร้างรถวีลแชร์และการอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ชื่อ โรงงานไทยวีลร์ ซึ่งจะสามารถให้บริการคนพิการได้มากขึ้นทั้งในประเทศและภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของกรมประชาสงเคราะห์ ประมาณ 100 ตารางวา เป็นผู้ประสานงานให้คนพิการญี่ปุ่นมอบรถวีลแชร์ใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นให้แก่คนพิการไทย จำนวน 300 คัน ตั้งแต่ปี 2536 – 2538 ปีละ 100 คัน จัดทำจุลสารสายสัมพันธ์เป็นประจำเพื่อเผยแพร่ข่าวสารด้านคนพิการและความรู้อื่น ๆ แก่สมาชิก รวมทั้งเผยแพร่สู่องค์กร หน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ ทั้งร่วมเป็นกรรมการและคณะทำงานในการจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นเอเซียตะวันออกไกลและแปซิฟิคตอนใต้ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2542 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กิจกรรมที่สำคัญ ปี 2544 ได้ร่วมกับองค์กรเครือข่าย รวมตัวกันร่วมคัดค้านและต่อต้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีข้อความกีดกันคนพิการเข้าสมัครสอบหรือเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 สมาคมฯ ร่วมกับองค์กรคนพิการต่างๆ ร่วมเดินรณรงค์เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างหน้ารัฐสภาไปยังกระทรวงคมนาคม และได้รับแขกจากต่างประเทศที่มาเยี่ยมสมาคมฯ ภายในปี พ.ศ. 2544 – 2548  เช่น ประเทศ Maldives , Venato , Samoa , Holland , Japan , England , Brunei

                  เมื่อ 14 ตุลาคม  2547  นายอุเอะอารา โยชิโน นายกสมาคมคนพิการจังหวัดโอกินาว่า และคณะจากประเทศญี่ปุ่น ได้มาเยี่ยม  ณ ที่ทำการสมาคมฯ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน ทำให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น

                และในวันที่ 2 ธันวาคม 2548  คณะคนพิการ จำนวน 14 คน จาก ศูนย์ส่งเสริมการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(AJU Center for Independent Living) จากเมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ได้มาเยี่ยม ณ ที่ทำการสมาคมฯ  ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน

               จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปเพื่อดำเนินงานส่งเสริมเรียกร้อง สิทธิและโอกาสของคนพิการสร้างสรรค์ความร่วมมือกับทุกฝ่ายอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนพิการและสังคมโดยรวม

                    สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณท่านที่กรุณาให้เกียรติและสละเวลาอันมีค่ายิ่ง มาเยี่ยมชมในครั้งนี้และหวังว่าท่านคงจะเข้าใจถึงการดำเนินงานของสมาคมฯ โดยสังเขป

 

 

 นายศุภชีพ  ดิษเทศ 

 นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

Visitors: 234,833